ปัจจุบันไทยมีเนื้อที่ทางการเกษตรรวม 147.73 ล้านไร่ หรือร้อยละ 46.7 ของเนื้อที่ทั้งประเทศ มีประชากรอยู่ในภาคเกษตรกว่า 30 ล้านคน เป็นแรงงานเกษตร 19.72 ล้านคน และมีจำนวนครัวเรือนเกษตรประมาณ 7.9 ล้านครัวเรือน โดยในปี 2566 GDP ภาคเกษตร มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 8.58 ของ GDP ทั้งประเทศ ลดลงจาก 10 ปีที่แล้ว ซึ่ง GDP ภาคเกษตร มีสัดส่วนที่ร้อยละ 11.32 แม้ว่าสัดส่วนของภาคเกษตรจะลดลง แต่มูลค่า GDP ภาคเกษตรยังคงเพิ่มขึ้นจาก 660,365 ล้านบาท ในปี 2556 เป็น 693,834 ล้านบาท
ในปี 2568 คาดการณ์กันว่าแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตร จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 1.8 – 2.8 โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากปริมาณฝนที่มีมากขึ้น ส่งผลดีต่อการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ทำให้มีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับการเจริญเติบโตของพืช รวมถึงการเพาะปลูกในรอบถัดไป รวมทั้งความต้องการสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับความมั่นคงทางอาหารเนื่องจากเกิดภัยพิบัติในหลายประเทศ รวมถึงปัญหาด้านห่วงโซ่อุปทานจากภาวะสงครามที่อาจเกิดขึ้น ทำให้หลายประเทศมีความกังวลว่าจะมีผลผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการบริโภคภายในประเทศ
นอกจากนี้ปัจจัยบวกราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดในช่วงปีที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจให้เกษตรกรเพิ่มการผลิตและมีการบำรุงดูแลรักษามากขึ้น การบริหารจัดการฟาร์มปศุสัตว์ที่ดีมีการดูแลเฝ้าระวังโรคระบาดอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง เศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้นและมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านการบริโภคและการส่งออก ทำให้มีความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารเพิ่มขึ้น การดำเนินนโยบายของภาครัฐในการพัฒนาศักยภาพการผลิตและบริหารจัดการสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิตและการแปรรูปสินค้าเกษตร การยกระดับสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพและได้มาตรฐาน การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับภัยพิบัติต่าง ๆ การเพิ่มช่องทางให้เกษตรกรเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลเพื่อการวางแผนและรองรับความเสี่ยง
สาขาที่จะขยายตัวคือ ป่าไม้โดยคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.2 โดยไม้ยูคาลิปตัสเพิ่มขึ้นตามความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตเยื่อกระดาษทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะจีน ขณะที่ญี่ปุ่นยังมีความต้องการใช้เพื่อเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลสำหรับการผลิตไฟฟ้า ส่วนรังนก ยังมีความต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ถ่านไม้เพิ่มขึ้นตามความต้องการของธุรกิจโรงแรม ร้านอาหารและการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดี อย่างไรก็ตาม ไม้ยางพาราลดลงตามพื้นที่การตัดโค่นสวนยางพาราเก่าและปลูกทดแทนด้วยยางพาราพันธุ์ดีหรือพืชเศรษฐกิจอื่นของการยางแห่งประเทศไทย ประกอบกับราคายางพาราที่อยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้เกษตรกรมีการตัดโค่นไม้ยางพาราลดลงและผลผลิตครั่งลดลงจากสภาพอากาศที่แปรปรวนและร้อนจัด
อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2568 ยังมีปัจจัยเสี่ยงและสถานการณ์สำคัญที่ต้องติดตาม อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยอิทธิพลของลานีญาที่คาดว่าจะส่งผลจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2568 อาจทำให้สภาพอากาศแปรปรวน เกิดวาตภัยและอุทกภัยที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทางการเกษตรและการเจริญเติบโตของพืช ราคาปัจจัยการผลิตหลายชนิดที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ทั้งราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ปุ๋ยเคมี สารเคมีกำจัดโรคและแมลงและวัตถุดิบอาหารสัตว์ ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตรและความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก
เศรษฐกิจโลกมีทิศทางชะลอตัวโดยเฉพาะประเทศคู่ค้าสำคัญทั้งจีน สหรัฐอเมริกา ประเทศในกลุ่มยูโรโซน ส่งผลต่อการค้าและความต้องการสินค้าเกษตรของไทย ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายภูมิภาคทั่วโลก อาทิ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น อาจเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย
กฎระเบียบและมาตรการกีดกันทางการค้าที่เข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสุขอนามัยของสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทยอาจส่งผลกระทบต่อการแข่งขันและการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน อาจส่งผลกระทบต่อโซ่อุปทานโลกและการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของไทย