ตั๊กแตนปาทังก้า ถือเป็นศัตรูพืชที่เป็นปัญหาของเกษตรกรทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยของเราก็เช่นกัน ในอดีตมีแผนปูพรมกวาดล้างฉีดพ่นยาฆ่าแมลงเพื่อกำจัดตั๊กแตนปาทังก้า แต่ในวิกฤตยังมีโอกาสเสมอ เกษตรกรไทยได้เรียนรู้ว่าแท้จริงแล้วอาวุธที่ดีที่สุด ในการจัดการกับตั๊กแตนตัวร้ายก็คือน้ำมันร้อนๆ ซอสปรุงรสนั่นเอง
จึงเกิดอาชีพให้เกษตรกรหลายคน จากการจับตั๊กแตนปาทังก้า มีทั้งการเก็บขายผ่านพ่อค้าคนกลางและทอดขายร้อนๆ เป็นอาหารว่างหรือกับแกล้มรสโอชะ โปรตีนสูง ยิ่งเคี้ยวยิ่งเพลินจนตั๊กแตนทอดกลายเป็นสตรีตฟู้ดยอดนิยม เมื่อได้รับความนิยมมากขึ้น ตั๊กแตนปาทังก้าก็มีราคาสูงขึ้น จนชาวบ้านสามารถสร้างรายได้จากการจับตั๊กแตนขายได้มากกว่าการปลูกพืชบางชนิดเสียอีก
คุณสมเกียรติ แก้วเกลียว อยู่หมู่ที่ 12 ตำบลตาอ็อง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ประกอบอาชีพเสริมเพาะเลี้ยงตั๊กแตนปาทังก้า
คุณสมเกียรติ เล่าว่า อาชีพหลักของตนเองนั้นเป็นช่างซ่อมโทรศัพท์มือถือ แต่ด้วยเป็นคนที่ชื่นชอบในการกินตั๊กแตนและมีพี่สาวเพาะเลี้ยงจำหน่ายตั๊กแตนปาทังก้า จึงได้ศึกษาหาข้อมูลจากพี่สาวและทดลองเลี้ยงตั๊กแตนปาทังก้า
เริ่มจากการซื้อไข่ตั๊กแตนปาทังก้า 1 ขีด จากพี่สาว โดยราคาไข่ตั๊กแตนปาทังก้าอยู่ที่ 1,000 บาทต่อขีด และอุปกรณ์การเลี้ยง ลงทุนครั้งแรกจำนวนเงิน 2,500 บาท โดยเริ่มทดลองเลี้ยงแบบเล็กๆ
ขนาดกรงมุ้งสำหรับเลี้ยง และอัตราส่วนในการเพาะเลี้ยงไข่
กรงมุ้ง จะมีขนาด กว้างxยาวxสูง คือ 100x120x100 เซนติเมตร ต่ออัตราส่วนในการใส่ไข่ตั๊กแตนปาทังก้าครึ่งขีด สถานที่ในการเลี้ยงต้องเป็นพื้นที่สามารถกันฝนและแดดได้ มีอากาศถ่ายเทได้ดี ไม่ชื้นจนเกินไปและแดดสามารถส่องเพื่อให้ตั๊กแตนได้เจริญเติบโตได้ดี
การผสมพันธุ์
ตั๊กแตนปาทังก้าสามารถผสมพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี เมื่อโตเต็มวัยอายุ 30-45 วัน ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและสภาพอากาศในช่วงเวลานั้นๆ แต่โดยปกติแล้วตั๊กแตนปาทังก้าจะเริ่มผสมพันธุ์ช่วงเดือนเมษายนที่อากาศมีอุณหภูมิสูงหรือสภาพอากาศแห้งแล้ง
สามารถสังเกตการผสมพันธุ์ได้จากการจับคู่ของตั๊กแตนปาทังก้า จะเริ่มจับคู่กับ 5-10 คู่ (โดยประมาณ) จากนั้นจะเริ่มวางไข่ในถาดที่เตรียมไว้ ด้านในถาดจะมีดินทรายเตรียมไว้สำหรับการวางไข่และจะมีการวางไข่ประมาณ 1-3 ฝัก ซึ่งไข่ 1 ฝัก จะมีไข่เล็กๆ อีกประมาณ 96-152 ฟอง
เมื่อระยะเวลานับจากวันที่ตั๊กแตนปาทังก้าเริ่มจับคู่กันเมื่อครบ 4 วัน ทางฟาร์มก็จะนำถาดที่วางไข่ออกมาเทและใส่ถาดกลับเข้าไปในกรงอีกครั้งเป็นระยะเวลา 3 วัน จากนั้นจึงนำถาดออกมาเทไข่อีกครั้งและใส่ถาดวางไข่ต่ออีก 3 วัน จึงนำออกมาเท
การดูแลไข่ให้ฟักและการลอกคราบ
ไข่ที่ถูกวางและนำออกมาเทเก็บไว้จะถูกนำมาใส่ในกระปุกที่มีดินปลอดสาร ผสมกับขุยมะพร้าววางไข่ลงไปในกระปุกและใส่ดินที่ผสมแล้วทับลงไป ตามด้วยฉีดน้ำให้ชุ่ม จากนั้นใช้กระสอบปิดปากกระปุกเพื่อรักษาความชื้นและนำกระปุกใส่ไว้ในกรงเพื่อรอตั๊กแตนปาทังก้าฟักออกจากไข่ ระหว่างนี้ต้องหมั่นดูความชื้นในกระปุกให้ชุ่มชื้นอยู่ตลอด ไข่ตั๊กแตนปาทังก้าจะใช้ระยะเวลาในการฟักออกมา ช้าสุดที่ทางฟาร์มเคยพบเจอมาอยู่ที่ 15 วัน ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศในช่วงนั้นๆ เมื่ออากาศร้อนขึ้นหรือพื้นที่ที่วางไข่มีความแห้งแล้งมาก ก็จะทำให้ตั๊กแตนปาทังก้ามีการเจริญเติบโตได้ดี หลังจากตัวอ่อนฝักออกมาแล้วจะมีการลอกคราบ 7-8 ครั้ง โดยจะมีการเว้นช่วงการลอกคราบประมาณ 7 วัน และอายุขัยของตั๊กแตนปาทังก้าจะอยู่ที่ประมาณ 1 ปี
การให้อาหาร
อาหารของตั๊กแตนปาทังก้าเป็นหญ้าสด ที่ทางฟาร์มจะเริ่มให้อาหารมื้อแรกแก่ลูกตั๊กแตนที่มีอายุ 6 วัน (นับตั้งแต่ฟักออกมาจากไข่) โดยหญ้าสดที่ให้ต้องปลอดสารเคมี เพราะตั๊กแตนปาทังก้าค่อนข้างอ่อนไหวง่ายอย่างมากกับสารเคมี จะทำการใส่หญ้าสดเข้าไปในกรงเลี้ยงทุกๆ วัน ถือเป็นแมลงที่เลี้ยงง่าย กินง่ายมาก
ข้อควรระวัง
ควรระวังอย่าให้กรงเลี้ยงหรือในพื้นที่บริเวณที่เลี้ยงมีมด เพราะหากมดกัดกินไข่ จะทำให้ไข่ไม่สมบูรณ์ ไข่ที่ถูกฟักออกมาจะไม่แข็งแรงได้
การเก็บตั๊กแตนปาทังก้าจำหน่าย
สำหรับช่วงวัยการเก็บตั๊กแตนเพื่อจำหน่ายจะเก็บตอนช่วงตั๊กแตนก่อนโตเต็มวัย ให้สังเกตจากตุ่มปีกของตัวอ่อนจะเจริญเติบโตมาชนกันที่สันหลังกลางลำตัว ยาวคลุมถึงส่วนท้องปล้องที่ 3 ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายก่อนลอกคราบออกเป็นตัวเต็มวัย
ตลาด
ปัจจุบันฟาร์มมีตลาดที่ส่งจำหน่ายสำหรับตั๊กแตนเป็นตัว ให้แก่ร้านขายแมลงทอด ร้านขายแมลง ในตลาดพื้นที่ โดยราคาอยู่ที่ 450-500 บาทต่อกิโลกรัม นอกจากนี้ ยังมีจำหน่ายไข่ตั๊กแตนปาทังก้า สามารถจัดส่งได้ทั่วประเทศ ราคาอยู่ที่ 1,000 บาทต่อขีด
การเลี้ยงตั๊กแตนเป็นการสร้างรายได้ที่ถือว่าเป็นอาชีพหลักก็ดีหรือเป็นอาชีพเสริมก็ทำได้ ใช้เวลาน้อยในการดูแลและเพียงแค่มีพื้นที่ว่างบริเวณบ้านไม่มาก ก็สามารถเลี้ยงตั๊กแตนได้แล้ว นอกจากนี้ ใครที่กำลังมองหาอาชีพเสริมที่ใช้เวลาน้อย แต่ผลตอบแทนสูง เพียงเวลาไม่นานสามารถคืนทุน เริ่มลงทุนได้แบบเล็กๆ ก็สามารถสร้างช่องทางรายได้ที่ดีได้อีกด้วย
สำหรับท่านใดที่สนใจ ตั๊กแตนปาทังก้า ไข่ตั๊กแตนปาทังก้า ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณสมเกียรติ แก้วเกลียว โทรศัพท์ 081-594-9119 ติดตามความเคลื่อนไหวได้ทางเฟซบุ๊ก : เลี้ยงตั๊กแตนปาทังก้า By ช่างศักดิ์