ค้นหา

รมช.อัครา มุ่งพัฒนาพื้นที่ท่าเทียบเรือประมงภูเก็ต หวังสร้าง Fish Market เพื่อสร้างรายได้และผลประโยชน์ต่อชาวประมงอย่างยั่งยืน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เข้าชม 14 ครั้ง

นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมท่าเทียบเรือประมงภูเก็ต พร้อมรับฟังแนวทางการปรับปรุง พัฒนาและแก้ไขปัญหาของชาวประมงและผู้ประกอบการในพื้นที่ ณ ต.รัษฏา อ.เมือง จ.ภูเก็ต โดยท่าเทียบเรือดังกล่าวมีศักยภาพในการขนถ่ายปลาทูน่าจากเรือประมงที่มาจากประเทศไต้หวัน ซึ่งในช่วงปี 2555 – 2564 มีเรือประมงจากประเทศไต้หวันขึ้นขนถ่ายปลาทูน่าหลายชนิดรวมปริมาณ 11,926,777 กิโลกรัม กระทรวงเกษตรฯ โดยองค์การสะพานปลา จึงมีแนวทางในการพัฒนาพื้นที่ท่าเทียบเรือประมงภูเก็ตและยกระดับคุณภาพชีวิตชาวประมงและผู้ประกอบกิจการด้านประมงขึ้นอย่างยั่งยืน จึงมีแนวทางในการจัดทำโครงการพัฒนาศูนย์กลางการขนถ่ายปลาทูน่าในเอเชีย (Tuna Hub) เพื่อครัวไทยสู่ครัวโลก ที่ท่าเทียบเรือประมงภูเก็ต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขนถ่าย สถานที่จำหน่ายสัตว์น้ำ การจัดระเบียบเรือประมงและด้านสุขอนามัย นำพื้นที่เรือประมงใช้ขนถ่ายและซื้อขายสินค้าสัตว์น้ำ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานและการบริหารจัดการให้เป็นไปตามมาตรฐานสุขลักษณะการดูแลรักษาสัตว์น้ำ โดยการสร้างผนังเขื่อนกั้นดิน ขุดลอกร่องน้ำหน้าท่าเทียบเรือและปรับปรุงก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานสิ่งอำนวยความสะดวกท่าเทียบเรือรองรับการขนถ่ายปลาทูน่า เพื่อให้เรือประมงสามารถเข้ามาเทียบในท่าเทียบเรือประมงภูเก็ตได้ แก้ไขปัญหาร่องน้ำตื้นเขินและบรรเทาความเดือดร้อนของชาวประมงและผู้ประกอบการที่เข้ามาใช้บริการในบริเวณท่าเทียบเรือประมงภูเก็ต ตลอดจนอำนวยความสะดวกให้เรือประมงและเรือทั่วไปในการสัญจรไปมาในบริเวณดังกล่าวและนำเรือประมงต่างประเทศเข้าขนถ่ายปลาทูน่า เป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ตในการเป็นศูนย์กลางของการนำเข้าและส่งออกปลาทูน่า (Tuna Hub) พัฒนาธุรกิจสินค้าประมงด้านการนำเข้าและส่งออกปลาทูน่าผ่านท่าเทียบเรือประมงนานาชาติภูเก็ต


อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ โดยองค์การสะพานปลา ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานในเรื่องการยกระดับศักยภาพของเกษตรกร/สถาบันเกษตรกรให้เข้มแข็ง ทั้งในเรื่องการส่งเสริมด้านการตลาดสินค้าสัตว์น้ำและอุตสาหกรรมการประมง พร้อมดำเนินการหรือควบคุมและอำนวยบริการซึ่งกิจการแพปลา การขนส่งและกิจการอื่นๆ อันเกี่ยวกับกิจการแพปลา อีกทั้งยังส่งเสริมฐานะ สวัสดิการ หรืออาชีพของชาวประมงและส่งเสริมสหกรณ์หรือสมาคมการประมงด้วย โดยการขับเคลื่อนการดำเนินงานขององค์การสะพานปลา สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาภาคใต้ ปี 2566 –  2570 ของรัฐบาล ทั้งในเรื่อง P-Premium Services & Tourism (การท่องเที่ยวคุณภาพชั้นนำ) การยกระดับบริการด้านการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ มาตรฐาน ปลอดภัย และมีมูลค่าสูง และ A – Agro-based Industries and Organic Farming (อุตสาหกรรมการเกษตรและเกษตรอินทรีย์) การส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยและการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม

ทั้งนี้ ในปี 2567 ที่ผ่านมา มีจำนวนเรือประมงพาณิชย์ที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประมงจังหวัดภูเก็ต (ข้อมูล ณ วันที่ 23 ธ.ค. 67) จำนวน 346 ลำ และข้อมูลจากองค์การสะพานปลา ณ วันที่ 31 ธ.ค. 67 มีปริมาณสัตว์น้ำผ่านท่า จำนวน 27,263,766.50 กก. มูลค่า 1,635,321,970 บาท เรือเข้ามาขนถ่ายสินค้า จำนวน 25,292 เที่ยว รถยนต์เข้ามาบรรทุกขนถ่ายสินค้า จำนวน 21,401 เที่ยว

“วันนี้ตั้งใจมารับฟังปัญหาของพี่น้องชาวประมงและพัฒนาท่าเทียบเรือประมงภูเก็ต ซึ่งตั้งใจที่จะพัฒนาพื้นที่ให้เป็น Fish Market โดยกระทรวงเกษตรฯ พร้อมบูรณาการการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อพัฒนาพื้นที่ทั้งในมิติของการสร้างรายได้และผลประโยชน์ตอบแทนที่สนับสนุนภาคอุตสาหกรรมประมงไปสู่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวต่อไป อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการจัดสรรพื้นที่ ทั้งการเพิ่มพื้นที่ในการจอดเรือประมง ลดความแออัด ซึ่งจะต้องมีการขุดลอกและขยายพื้นที่ เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวประมงและลดผลกระทบระหว่างภาคการประมงและภาคการท่องเที่ยวด้วย” นายอัครา กล่าว

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/92148