ช่วงเวลาที่จีนเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจและเปิดกว้างอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อุปสงค์ความต้องการทุเรียนของจีน เติบโตตามไปด้วยเช่นกัน โดยการนำเข้าทุเรียนของจีนพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคมของปี 2024 มีการนำเข้าทุเรียนสดสูงเกิน 1.48 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เมื่อเทียบปีต่อปี
“ไทย” ประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้ส่งออกทุเรียนสู่จีน ยังคงครองตลาดทุเรียนในจีนด้วยสินค้าทุเรียนรสชาติหวานมันส่งกลิ่นหอมเย้ายวนใจผู้บริโภคชาวจีน แต่ขณะเดียวกันมีการนำเข้าทุเรียนจากเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ซึ่งกลายเป็นตัวเลือกใหม่ๆ ของผู้บริโภคชาวจีน
ข้อมูลจากสำนักข่าวซินหัว ซึ่งพูดคุยกับพ่อค้าคนกลาง ผู้ค้าปลีก ผู้บริโภค และนักวิจัยตลาดในจีน พบว่า ทุเรียนไทยยังคงมีข้อได้เปรียบที่ไม่เหมือนใครและมีแนวโน้มรักษาตำแหน่ง “ผู้นำ” ในตลาดจีนต่อไป หากมุ่งมั่นพัฒนาการควบคุมคุณภาพ สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ วิธีทำการตลาด การเพาะปลูกสายพันธุ์ใหม่ และการอุดช่องโหว่ทางอุปทานอย่างต่อเนื่อง
ควบคุมคุณภาพเข้มงวด สร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้า…
“แม้ทุเรียนก้านยาวของเวียดนามจะราคาไม่แรง แต่ฉันยังชอบรสชาติและคุณภาพทุเรียนหมอนทองของไทยมากกว่า” ความคิดเห็นจากชาวเน็ตคนหนึ่งบนสื่อสังคมออนไลน์จีน ซึ่งมีชาวเน็ตจีนคนอื่นๆ เห็นด้วยเป็นจำนวนมาก ขณะกลุ่มลูกค้าที่เลือกซื้อทุเรียนในร้านผลไม้เผยว่า พวกเขาคุ้นเคยกับรสชาติของหมอนทองมานานและรู้สึกว่าพันธุ์อื่นๆ มีรสชาติไม่ค่อยถูกปาก
หลิวเป่าเฟิง พ่อค้าคนกลางคนหนึ่ง กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศเดียวที่นำเข้าทุเรียนสดสู่จีนมานานถึง 20 ปี โดยทุเรียนหมอนทองมีรสชาติหวานละมุนจนผู้คนติดใจเป็นแฟนคลับ
หากพิจารณาจากฤดูการผลิต ทุเรียนเวียดนามเพียงช่วยเติมเต็มช่องว่างการบริโภคทุเรียนในตลาดจีน ส่วนทุเรียนมาเลเซียที่ถูกนำเข้าสู่จีนครั้งแรกเมื่อเดือนมิถุนายน 2024 แตกต่างจากทุเรียนไทยและทุเรียนเวียดนามในด้านการเก็บเกี่ยว
การเก็บเกี่ยวทุเรียนมาเลเซียจะต้องรอให้ผลผลิตสุกและตกหล่นลงมาจากต้นเอง รวมถึงทุเรียนมาเลเซียมีกลิ่นและรสชาติเข้มข้นกว่า โดยการต้องรอให้ทุเรียนสุกตามธรรมชาตินี้ทำให้การขนส่งมีข้อกำหนดมากขึ้น นำสู่การมีราคาสูงขึ้นอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง ผู้บริโภคชาวจีนจึงยังไม่นิยมทุเรียนมาเลเซียเป็นวงกว้าง
ทุเรียนไทยยังคงมีฐานผู้บริโภคขนาดใหญ่ในจีน นี่เป็นจุดแข็งสำคัญที่จะช่วยรักษาความสามารถทางการแข่งขันของทุเรียนไทย โดยหวังเย่าหง ประธานสมาคมอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนในเมืองอวิ้นเฉิง มณฑลซานซีทางตอนเหนือของจีน เผยว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือการควบคุมคุณภาพในยามเผชิญการแข่งขันที่ดุเดือดเพิ่มขึ้น
ผู้สื่อข่าวยังได้ไปเยือนร้านผลไม้และซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งในจีน พบว่า ทุเรียนที่มีเนื้อแน่นสีสวยและรสชาติหวานละมุนยังคงขายหมดเร็วที่สุดแม้มีราคาแพงกว่า ขณะพ่อค้าคนกลางคนหนึ่งบอกว่าทุเรียนหมอนทองของไทยได้รับความนิยมในหมู่ผู้บริโภค แต่พอมีการนำเข้าจากหลายประเทศเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้บริโภคไม่แน่ใจว่าที่ซื้อไปเป็นทุเรียนไทยจริงไหม
บรรดาหน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่นในจีนจะติด “ตราบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์สินค้าเกษตรแห่งประเทศจีน” กับผลไม้ที่มีความพิเศษ ขณะเดียวกันผู้ประกอบการและสมาคมธุรกิจบางส่วนจะใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนและติดรหัสคิวอาร์บนบรรจุภัณฑ์ของผลไม้ที่เข้าสู่ตลาด
รหัสคิวอาร์แต่ละอันมีลักษณะเฉพาะตัว เปรียบเสมือน “บัตรประจำตัว” ของผลไม้ ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบ “วงจรชีวิตเต็ม” ของผลไม้ที่ซื้อไปด้วยการสแกนรหัสคิวอาร์นี้เพื่อป้องกันการสวมรอย ซึ่งนับเป็นวิธีการที่คุ้มค่าสำหรับทุเรียนไทย
พัฒนาโลจิสติกส์ ยกระดับคุณภาพ
พ่อค้าแม่ค้าและผู้บริโภคส่วนหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อเทียบกับการค้าทุเรียนในเวียดนามและมาเลเซีย ไทยสามารถสร้างสายพันธุ์ทุเรียนที่มีคุณภาพสูงขึ้นและใช้ประโยชน์จากระบบโลจิสติกส์อันมีประสิทธิภาพระหว่างจีนกับกลุ่มประเทศอาเซียน ช่วยให้ผู้บริโภคชาวจีนได้รับประทานทุเรียนไทยที่ดีและสดใหม่ยิ่งขึ้น
ปัจจุบันเวียดนามสามารถขนส่งทุเรียนตรงสู่จีนผ่านการขนส่งทางบก ระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพช่วยให้เวียดนามสามารถแข่งขันด้านราคาได้มากขึ้น ทำให้ครองส่วนแบ่งตลาดได้เพิ่มขึ้น
ส่วนทุเรียนมาเลเซียที่เก็บเกี่ยวตอนสุกแล้ว ทำให้ต้องรีบรับประทานภายใน 2-3 วัน และปัจจุบันสามารถขนส่งทางอากาศเท่านั้นเพื่อรักษาคุณภาพ
เอสเอฟ เอ็กซ์เพรส (SF Express) ระบุว่า มีการให้บริการขนส่งทุเรียนมาเลเซียแบบครบวงจรจากสวนถึงหน้าบ้าน โดยขนส่งถึงเซินเจิ้น กว่างโจวและเมืองใหญ่ในมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ได้เร็วที่สุดภายใน 24 ชั่วโมง และขนส่งถึงปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และเมืองใหญ่แห่งอื่นๆ ภายใน 48 ชั่วโมง
หวังเย่าหง ผู้คลุกคลีกับการค้าผลไม้มานานหลายปี เผยว่าแม้ราคาทุเรียนมูซังคิงของมาเลเซียนั้นสูง แต่ด้วยรสชาติเฉพาะตัว การควบคุมคุณภาพเข้มงวดและการบริการโลจิสติกส์ที่เชื่อถือได้ ทำให้ยังคงได้ใจผู้บริโภคชาวจีนจำนวนมาก ซึ่งทุเรียนไทยสามารถเรียนรู้โมเดลนี้ในอนาคตเพื่อรักษาสถานะผู้นำตลาด
ทั้งนี้ ตลาดทุเรียนของจีนมีขนาดใหญ่และปัจจุบันยังคงเน้นบริโภคทุเรียนสดเป็นหลัก ไม่ได้บูรณาการและพัฒนาเชิงลึกร่วมกับอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น การจัดเลี้ยงและอาหาร จึงมีศักยภาพมหาศาลในการพัฒนาในอนาคต นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งอื่นๆ พยายามแสวงหาส่งออกทุเรียนสู่จีน
ขณะเดียวกันมีการพัฒนาอุตสาหกรรมทุเรียนภายในประเทศที่มณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) ทางตอนใต้ของจีนอย่างรวดเร็ว ทำให้การแข่งขันของตลาดทุเรียนในจีนจะดุเดือดยิ่งขึ้นมากในอนาคต
ตัวแทนจากอุตสาหกรรมทุเรียนของจีน ยังเสริมด้วยว่า การส่งออกทุเรียนไทยสู่จีน มีสิ่งที่มิอาจมองข้าม 2 ประการ ได้แก่
1) สร้างสรรค์การตลาดรูปแบบใหม่ เสริมสร้างการสื่อสารกับผู้ค้าปลีกในจีนด้วยการเปิดร้านค้าพิเศษ จัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย เปลี่ยนคืนสินค้าที่เน่าเสีย ฯลฯ เพื่อกระชับความนิยมทุเรียนไทยของผู้บริโภคชาวจีน
2) พยายามเสริมสร้างการเพาะปลูกทุเรียนสายพันธุ์ใหม่เพื่ออุดช่องว่างในอุปทานทุเรียนไทย