ค้นหา

มกอช.เติมความรู้เกษตรกร แปรรูปผลกาแฟเชอรี่เป็นกาแฟกะลา ตามมาตรฐานสินค้าเกษตร

สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)
เข้าชม 22 ครั้ง

นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า เนื่องจากกาแฟ เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความต้องการทางการตลาดค่อนข้างสูง แต่ประเด็นปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศหรือปัญหาโลกร้อน ปัจจุบันนี้ เริ่มใช้คำว่า “โลกเดือด” ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่กระทบต่อผลผลิตกาแฟทำให้ทั้งปลูกแล้วไม่ได้ผลผลิตเท่าที่ควร ปลูกแล้วคุณภาพไม่ได้ตามที่ตลาดต้องการ ฉะนั้น เกษตรกรจึงต้องมีการศึกษาหาความรู้ปรับตัวอยู่เสมอ ดังนั้น มกอช. โดยกองนโยบายมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร (กนม.) ได้บูรณาการร่วมกับสำนักงานมูลนิธิโครงการหลวง สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. และโครงการเกษตรวิชญา ส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนาระบบด้านมาตรฐานสินค้าเกษตรในพื้นที่โครงการพระราชดำริ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการอบรมมาตรฐาน GAP กาแฟ และการจัดการแปลงกาแฟ การป้องกันศัตรูกาแฟ พร้อมทั้งลงพื้นที่แปลงกาแฟเกษตรกรเพื่อช่วยดูสภาพต้นกาแฟจริงๆ และให้ข้อแนะนำสำหรับการป้องกันมอดกาแฟ การตัดแต่งต้นกาแฟ บริเวณรอบแปลงกาแฟของเกษตรกร รวมถึงวิธีการเก็บผลเชอรี่จากต้นกาแฟและการดูแลกิ่งก้านภายหลังการเก็บผลเชอรี่

ทั้งนี้ เพื่อให้มีการพัฒนาที่ต่อเนื่อง มกอช. จึงได้จัด “โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาโซ่อุปทานกาแฟในพื้นที่โครงการพระราชดำริ” เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และความเข้าใจแก่เกษตรกรและเจ้าหน้าที่ในพื้นที่โครงการเกษตรวิชญา ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สาใหม่ พื้นที่มูลนิธิโครงการหลวง สามารถปฏิบัติในการแปรรูปผลกาแฟเชอรี่เป็นกาแฟกะลาได้ตามมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับกาแฟ (มกษ. 5903-2553) การผลิตกาแฟมาตรฐานแบบเปียก (Fully Wet Process) ตามแนวทางของโครงการหลวงและมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ ยังได้นำเกษตรกรศึกษาดูงานกระบวนการผลิตกาแฟอาราบิก้า และการส่งเสริมการผลิตและแปรรูปกาแฟตลอดห่วงโซ่อุปทาน ณ ศูนย์การเรียนรู้ครบวงจร กาแฟชาวไทยภูเขา ฮิลล์คอฟฟ์ เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในการแปรรูปผลผลิตกาแฟของตนเอง รวมทั้งสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรว่า การส่งเสริมการปลูกพืชกาแฟจะมีตลาดรับซื้อแน่นอน

“หวังเป็นอย่างยิ่งว่า เกษตรกรจะได้รับความรู้ความเข้าใจ สามารถปฏิบัติในการแปรรูปผลเชอรี่ไปเป็นกาแฟกะลาได้ตามมาตรฐาน สอดคล้องกับมาตรฐานการรับซื้อเมล็ดกาแฟของโครงการหลวง ที่สำคัญสามารถผลิตสินค้าเกษตรที่ได้รับการรับรองมาตรฐานมีคุณภาพที่ดีและเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค”เลขาธิการ มกอช. กล่าว

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.dailynews.co.th/news/4323965/