ค้นหา

กรมป่าไม้แนะวิธีกักเก็บคาร์บอนเครดิต เปลี่ยนต้นไม้เป็นมูลค่า

กรมป่าไม้
เข้าชม 28 ครั้ง

คาร์บอนเครดิต(Carbon Credit) คือ นโยบายสำคัญของกรมป่าไม้ ในการส่งเสริมการดูแลรักษาป่าและการแก้ไขปัญหาโลกร้อนและที่สำคัญจะเป็นหนึ่งในเครื่องมือผลักดันให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2593 หรือ Net Zero ให้ได้ภายในปี 2608

สำหรับคาร์บอนเครดิตคือ ปริมาณการลดหรือกักเก็บก๊าซเรือนกระจกซึ่งได้จากการดำเนินโครงการประเภทต่างๆ เช่น การปลูกป่าและการเพิ่มพื้นที่สีเขียว การส่งเสริมพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น และจะต้องได้รับการรับรองตามมาตรฐานจากเจ้าของมาตรฐาน มีหน่วยเป็นตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

ที่สำคัญคาร์บอนเครดิต ยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ คือ ใช้แลกเปลี่ยน ซื้อ-ขาย เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon offset) จากองค์กร บุคคล งานบริการหรือจากการผลิต ผลิตภัณฑ์ต่างๆ นอกจากนี้ คาร์บอนเครดิตยังมีประโยชน์ในแง่ของการเป็นเครื่องมือสร้างแรงจูงใจให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการฟื้นฟูป่า เป็นการช่วยภาครัฐเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ เพื่อเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี

กรมป่าไม้ เผยวิธีกักเก็บ-คำนวณคาร์บอนเครดิตของต้นไม้ พร้อมเดินหน้าแนวทางต่อยอดโครงการ T-VER ชี้ได้รับประโยชน์จากการแบ่งปันคาร์บอนเครดิต

นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยถึงวิธีการกักเก็บและคำนวณคาร์บอนเครดิตของต้นไม้ในพื้นที่ว่า การกักเก็บและคำนวณคาร์บอนเครดิตของต้นไม้ในพื้นที่ ทำได้โดยการวัดปริมาณการกักเก็บคาร์บอนในปีฐาน ซึ่งก็คือปีที่ขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทยหรือโครงการ T-VER เมื่อถึงปีที่ต้องการขอรับรองคาร์บอนเครดิต ผู้พัฒนาโครงการจะต้องทำการวัดปริมาณการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่อีกครั้ง แล้วคำนวณส่วนต่างระหว่างสองช่วงเวลานี้ ซึ่งจะเป็นปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ได้รับ ระยะเวลาระหว่างปีฐานและปีที่ขอรับรองขึ้นอยู่กับความประสงค์ของผู้พัฒนาโครงการ แต่องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) แนะนำให้มีระยะห่างประมาณ 3-5 ปี สำหรับอายุโครงการโดยรวม โครงการ T-VER แบบ Standard มีอายุ 10 ปี และสามารถต่ออายุได้ไม่จำกัด ส่วนแบบ Premium มีอายุ 15 ปี และต่ออายุได้ไม่เกิน 2 รอบ รวมเป็นอายุโครงการสูงสุด 45 ปี

วิธีกักเก็บคาร์บอนในต้นไม้
ต้นไม้ทำหน้าที่เป็น “แหล่งกักเก็บคาร์บอน” โดยผ่านกระบวนการสำคัญอย่างการสังเคราะห์แสง ซึ่งต้นไม้จะดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศและแปรเปลี่ยนเป็นพลังงานเพื่อการเจริญเติบโต คาร์บอนที่ต้นไม้กักเก็บจะสะสมอยู่ในส่วนต่างๆ ได้แก่

ลำต้น คิดเป็นสัดส่วนการกักเก็บคาร์บอนสูงสุดเนื่องจากมีมวลที่ใหญ่ที่สุด กิ่งและใบ แม้จะกักเก็บคาร์บอนได้น้อยกว่า แต่ก็มีบทบาทสำคัญในการช่วยเพิ่มพื้นที่ใบสำหรับการดูดซับ CO₂ ราก ทำหน้าที่เก็บคาร์บอนในดินและสร้างระบบนิเวศที่ยั่งยืน การปลูกต้นไม้ในพื้นที่หลากหลาย เช่น ป่าไม้ชุมชน สวนป่าเชิงพาณิชย์หรือพื้นที่เกษตรกรรม สามารถเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวต่อว่า สำหรับผู้ที่สามารถเข้าร่วมโครงการ T-VER มีตั้งแต่บุคคลธรรมดา คณะบุคคล นิติบุคคล และหน่วยงานของรัฐ สามารถเข้าร่วมโครงการ T-VER กับกรมป่าไม้ โดยต้องได้รับอนุมัติหรืออนุญาตให้ใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าไม้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เช่น ได้รับอนุมัติให้เข้าร่วมกิจกรรมกับกรมป่าไม้ตามมาตราต่างๆ ของพระราชบัญญัติป่าไม้และป่าสงวนแห่งชาติหรือได้รับอนุญาตให้ใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าไม้ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ผู้ที่ได้รับการรับรองว่าอยู่อาศัยทำกินตามนโยบายรัฐบาลในการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน (คทช.) ก็สามารถเข้าร่วมโครงการได้ สำหรับพื้นที่ป่าชุมชน คณะกรรมการจัดการป่าชุมชนสามารถเข้าร่วมโครงการได้ โดยต้องผ่านขั้นตอนการเตรียมการ สร้างการรับรู้และทำความเข้าใจก่อน แล้วจึงดำเนินโครงการปลูกและบำรุงป่าชุมชน หรือการอนุรักษ์ การฟื้นฟูและการจัดการป่าชุมชน ก่อนที่จะขึ้นทะเบียน T-VER กับกรมป่าไม้ต่อไป

“ผู้เข้าร่วมโครงการ T-VER จะได้รับประโยชน์จากการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตที่เกิดขึ้นจากโครงการ โดยสัดส่วนการแบ่งปันแตกต่างกันตามประเภทของพื้นที่และผู้เข้าร่วมโครงการ ในกรณีของพื้นที่ป่าตามกฎหมายและป่าสงวนแห่งชาติ ผู้ยื่นคำขอจะได้รับส่วนแบ่งร้อยละ 90 ของคาร์บอนเครดิต ขณะที่กรมป่าไม้ได้รับร้อยละ 10 สำหรับผู้ที่ได้รับการรับรองตามนโยบาย คทช. จะได้รับส่วนแบ่งร้อยละ 20 ส่วนผู้พัฒนาโครงการได้รับร้อยละ 70 กรมป่าไม้ได้รับร้อยละ 10 ในกรณีของป่าชุมชน การแบ่งปันจะแตกต่างกันระหว่างกิจกรรมปลูกและบำรุงกับกิจกรรมอนุรักษ์และฟื้นฟู โดยกิจกรรมปลูกและบำรุง กรมป่าไม้ได้ร้อยละ 5 ชุมชน ได้ร้อยละ 5 เอกชนได้ร้อยละ 90 สำหรับกิจกรรมอนุรักษ์และฟื้นฟู กรมป่าไม้ได้ร้อยละ 10 ชุมชน ได้ร้อยละ 40 เอกชนได้ร้อยละ 50 นอกจากผลประโยชน์ทางการเงินแล้ว ผู้เข้าร่วมโครงการยังมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ ซึ่งช่วยแก้ไขปัญหาโลกร้อนและส่งเสริมความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ” อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าว

นายสุรชัย กล่าวด้วยว่า สำหรับแนวทางการต่อยอดโครงการ T-VER ในอนาคตของกรมป่าไม้ มีหลายประการ ได้แก่

1.การพัฒนาระบบติดตามและรายงานผลโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) การสำรวจด้วยภาพดาวเทียม โดรนและเทคโนโลยีไลดาร์ ควบคู่กับการสำรวจภาคสนาม เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการวัดปริมาณคาร์บอนที่กักเก็บ
2.การวิจัยและพัฒนาเพื่อศึกษาวิธีการเพิ่มประสิทธิภาพในการกักเก็บคาร์บอนของป่าไม้ประเภทต่างๆ
3.การสร้างความตระหนักรู้และให้ความรู้แก่สาธารณชนเกี่ยวกับความสำคัญของโครงการคาร์บอนเครดิตและการอนุรักษ์ป่าไม้
4.การทบทวนและปรับปรุงระเบียบการแบ่งปันคาร์บอนเครดิต ให้มีความยืดหยุ่นและเอื้อต่อการพัฒนาโครงการ
5.เสริมสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนและประชาสังคมที่มีศักยภาพในการสนับสนุนงบประมาณหรือเทคโนโลยี เพื่อช่วยให้ประชาชนที่มีพื้นที่ปลูกป่าของตนเองสามารถพัฒนาโครงการ T-VER ได้ด้วยตนเอง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มพื้นที่ป่าเศรษฐกิจนอกพื้นที่รับผิดชอบของกรมป่าไม้ให้เกิดผลสัมฤทธิ์มากยิ่งขึ้น
6.การประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้โครงการคาร์บอนเครดิตสอดคล้องกับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ก็เป็นอีกแนวทางสำคัญที่จะช่วยให้โครงการ T-VER มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้นในอนาคต

วิธีคำนวณคาร์บอนเครดิตของต้นไม้
การคำนวณคาร์บอนเครดิตของต้นไม้ต้องอาศัยข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์และสูตรทางคณิตศาสตร์ เพื่อให้ได้ค่าที่แม่นยำ สามารถดำเนินการตามขั้นตอนดังนี้

การเก็บข้อมูลพื้นฐานของต้นไม้
-ชนิดของต้นไม้ ต้นไม้แต่ละชนิดมีอัตราการกักเก็บคาร์บอนแตกต่างกัน เช่น ต้นไม้โตเร็วอย่างยูคาลิปตัสหรือไม้เนื้อแข็งอย่างสัก
-ขนาดของต้นไม้ เช่น เส้นรอบวงลำต้น ความสูงและมวลชีวภาพ
-อายุของต้นไม้ ต้นไม้ที่มีอายุมากจะสะสมคาร์บอนได้มากกว่า
ปัจจุบันมีแอปพลิเคชันและซอฟต์แวร์ช่วยคำนวณคาร์บอนเครดิต เช่น แอปของกรมป่าไม้หรือแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ช่วยประเมินค่าการกักเก็บคาร์บอนของต้นไม้ในพื้นที่ต่างๆ

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.technologychaoban.com/bullet-news-today/article_300340