นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง ลงพื้นที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี เพื่อตรวจเยี่ยมและรับฟังรายงานความก้าวหน้าโครงการเหนี่ยวนำชุดโครโมโซม 4n ในปลาหมอคางดำ โดยมีนายอาคม ชุ่มธิ ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ นายคงภพ อำพลศักดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุกรรมสัตว์น้ำและประธานคณะทำงานโครงการเหนี่ยวนำชุดโครโมโซม 4n ในปลาหมอคางดำ และเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ ให้การต้อนรับพร้อมรายงานความก้าวหน้าโครงการฯ
![](https://media.gosmartfarmer.com/2025/02/04160622/image-65-1024x577.png)
นายบัญชา กล่าวว่า จากนโยบายของนายอัครา พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะที่กำกับดูแลกรมประมงและประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ซึ่งถือเป็นวาระแห่งชาติ กรมประมงจึงได้ดำเนินโครงการวิจัยการเหนี่ยวนำชุดโครโมโซม 4n ในปลาหมอคางดำ เป็นไปตามมาตรการที่ 6 จากทั้งหมด 7 มาตรการในการควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำ โดยการนำหลักพันธุศาสตร์มาประยุกต์ใช้เพื่อการควบคุมการแพร่ขยายพันธุ์ของปลาหมอคางดำ โดยใช้เทคนิคการเหนี่ยวนำชุดโครโมโซม จากเดิมที่มีจำนวนชุดโครโมโซมตามธรรมชาติ 2 ชุด หรือ 2n ให้เป็นปลาหมอคางดำที่มีชุดโครโมโซม 4 ชุด หรือ 4n โดยจะนำปลาหมอคางดำ 4n เพศผู้ ปล่อยลงสู่แหล่งน้ำเพื่อให้ไปผสมพันธุ์กับปลาหมอคางดำซึ่งมีชุดโครโมโซม 2n ในธรรมชาติ โดยลูกปลาหมอคางดำที่ได้จากการผสมในลักษณะนี้จะได้ลูกปลาที่มีชุดโครโมโซม 3 ชุด หรือ 3n มีลักษณะที่เป็นหมันไม่สามารถสืบพันธุ์ต่อไปได้
![](https://media.gosmartfarmer.com/2025/02/04160811/image-66-1024x577.png)
สำหรับการดำเนินการเหนี่ยวนำชุดโครโมโซมปลาหมอคางดำในครั้งนี้ ดำเนินการเหนี่ยวนำด้วยความร้อนที่อุณหภูมิ 40 °C เป็นระยะเวลา 5 นาที ณ เวลา 80 นาที หลังผสมได้ปลาหมอคางดำที่สามารถเจริญเติบโตจนมีอายุ 3 เดือนจำนวน 1,112 ตัว และมีจำนวนปลาหมอคางดำที่มีขนาดที่เหมาะสมสำหรับติดเครื่องหมาย PIT tag ได้ 703 ตัว และสามารถเจาะเลือดเพื่อตรวจสกรีนจำนวนชุดตรวจโครโมโซมแบบ (pool sample) จำนวน 551 ตัว (135 pools) ด้วยเครื่อง flow cytometer พบรูปแบบการแสดงผลเป็นโครโมโซม 4n จำนวน 20 pools และดำเนินการตรวจยืนยันจำนวนโครโมโซมรายตัวแล้วจำนวน 1 pool พบปลาหมอคางดำที่มีโครโมโซม 4n และขณะนี้กำลังเร่งตรวจสอบยืนยันผลรายตัวจนครบ 20 pools ภายในเดือนมีนาคม 2568
![](https://media.gosmartfarmer.com/2025/02/04160836/image-67-1024x577.png)
ขณะเดียวกันคณะทำงานได้ดำเนินการปรับปรุงขั้นตอนกระบวนการเหนี่ยวนำโครโมโซม เพิ่มเติมจำนวน 9 รูปแบบ โดยมีการตรวจสอบจำนวนชุดโครโมโซมเป็นระยะๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเพิ่มจำนวนปลาหมอคางดำที่มีชุดโครโมโซมให้เหมาะสมและเพียงพอเพื่อขยายปล่อยลงแหล่งน้ำ ควบคุมจำนวนปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติต่อไป ที่สำคัญกรมประมงได้ดำเนินการปล่อยปลาหมอคางดำเพศผู้ที่มีโครโมโซม 4n เข้าผสมกับปลาหมอคางดำเพศเมียที่มีโครโมโซม 2n ในหน่วยทดลอง เพื่อศึกษาการเข้าคู่ผสมพันธุ์และความสามารถในการแข่งขันการเข้าคู่ผสมพันธุ์โดยวิธีธรรมชาติ เพื่อให้ได้ลูกปลาที่มีชุดโครโมโซม 3n ซึ่งมีลักษะเป็นหมันต่อไป
![](https://media.gosmartfarmer.com/2025/02/04160900/image-68-1024x577.png)
นอกจากนี้ การลงเพื่อติดตามโครงการ อธิบดีกรมประมงและคณะ ได้เข้าเยี่ยมชมหน่วยปรับปรุงพันธุ์กุ้งขาวสายพันธุ์เพชรดา 1 ที่กรมประมงได้ดำเนินการปรับปรุงพันธุ์ และดำรงรักษาสายพันธุ์ไว้ ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำเพชรบุรี มีการเลี้ยงทดสอบการเจริญเติบโตเพื่อให้เป็นพ่อแม่พันธุ์ในบ่อผ้าใบนอกอาคารไม่ควบคุมอุณหภูมิ และการเลี้ยงในอาคารที่สามารถคุมอุณหภูมิได้ พบว่าการเลี้ยงกุ้งขาวสายพันธุ์เพชรดาทั้งสองรูปแบบปัจจุบันมีอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้น ตั้งแต่รุ่น Po ถึงรุ่น P6 และจากการศึกษาผลการเจริญเติบโตของกุ้งขาวสายพันธุ์ “เพชรดา 1” ในฟาร์มเกษตรกรและในศูนย์ฯ พบว่า “เพชรดา 1” มีค่าเฉลี่ยการเจริญเติบโตสูงกว่าพันธุ์กุ้งแหล่งอื่นที่นำมาเปรียบเทียบ จากนั้นอธิบดีกรมประมงได้มอบพันธุ์ปลากะพงขาวที่เป็นปลาผู้ล่าในธรรมชาติตามมาตรการแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำมาตรการที่ 1 ให้เกษตรกรในพื่นที่จังหวัดเพชรบุรี ไปปล่อยในแหล่งน้ำธรรมชาติและบ่อที่ถูกบุกรุกเพื่อกำจัดและควบคุมปริมาณปลาหมอคางดำ