การกำหนดกลยุทธ์เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจกรีนย่อมเป็นเรื่องสำคัญที่เจ้าของหรือผู้บริหารธุรกิจเอสเอ็มอีจะต้องตระเตรียมการไว้ล่วงหน้าอย่างละเอียดและรัดกุม
กลยุทธ์ที่น่าจะมีความสำคัญที่สุดก็คือ การสร้างความเชื่อมั่นให้กับกลุ่มผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจว่า ทิศทางที่นำธุรกิจไปสู่ความเป็นกรีนมีความเป็นรูปธรรมและเห็นได้อย่างชัดเจน
เริ่มต้นจากการค่อยๆ สื่อความเกี่ยวกับความสำคัญของทิศทางธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและการปกป้องโลกจากการเสียสมดุลธรรมชาติจากการกระทำของมนุษย์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้นต่อระบบของธรรมชาติและระบบของสังคมและความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์โดยรวม
การสื่อความถึงเจตนารมณ์ของธุรกิจที่จะต้องเปลี่ยนผ่านไปสู่ทิศทางของวิถีกรีน จะต้องเกิดขึ้นทั้งภายในเพื่อให้พนักงานและผู้ร่วมงานตระหนักถึงสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลง และทั้งภายนอกที่จะทำให้ผู้บริโภค ลูกค้า และคู่ค้า เห็นได้ว่าธุรกิจมุ่งมั่นที่จะดำเนินกิจการไปสู่แนวทางของการพัฒนาความมั่นคง
ด้วยการใช้การสื่อสารทางการตลาดที่มีอยู่ทุกช่องทาง เริ่มกล่าวถึงวิสัยทัศน์ที่ธุรกิจกำลังจะปรับเปลี่ยน รวมถึงภาพลักษณ์ที่นำเสนอผ่านการออกแบบผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ และกิจกรรมทางการตลาดอื่นๆ
พื้นฐานจากการสร้างความตระหนักรู้เหล่านี้ จะต้องติดตามมาด้วยการปรับวิธีการทำงานภายใน เช่น ปรับเปลี่ยนนโยบายสู่การใช้วัตถุดิบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การปรับกระบวนการผลิตที่ใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงขึ้น การใช้พลังงานทดแทนหรือพลังงานหมุนเวียน การลดของเสียและความสูญเสียจากกระบวนการผลิต ฯลฯ
และหากการปรับเปลี่ยนกระบวนการทางธุรกิจภายในเหล่านี้ สามารถแสดงออกต่อสังคมทั่วไปได้เห็นเป็นประจักษ์ เช่น การติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ กังหันลม การลดปริมาณขยะหรือของเสียที่ออกจากสถานประกอบการ การใช้ยานพาหนะทางธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การลดปริมาณน้ำเสีย หรือการลดการใช้น้ำในกระบวนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ การติดตั้งป้ายอิเล็กทรอนิกส์ระบุปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปลดปล่อยออกจากกระบวนการผลิต ฯลฯ ก็จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้เกี่ยวข้องภายนอกได้ชัดเจน เสริมเข้ากับกลยุทธ์การใช้การสื่อสารทางการตลาด
กลยุทธ์ในลำดับต่อไป ได้แก่การนำกระบวนการผลิต กระบวนการรับรองคุณภาพ การเข้าร่วมการประกวด การได้รับรางวัลจากหน่วยงานต่างๆ เกี่ยวกับการส่งเสริมการพัฒนาความยั่งยืน การอนุรักษ์พลังงาน การดูแลสิ่งแวดล้อม และ/หรือ การสร้างประโยชน์ต่อสังคม และการดูแลคุ้มครองผู้บริโภค
ภายใต้กลยุทธ์นี้ หากได้รับใบรับรอง ประกาศเกียรติคุณ หรือเอกสารยกย่อง จากหน่วยงานที่ได้รับความเชื่อถือ ก็จะทำให้เนื้อหาของการสื่อสารทางการตลาดมีความน่าเชื่อถือเพิ่มขึ้น
เมื่อสามารถสร้างความเชื่อมั่นพื้นฐานเหล่านี้ให้เกิดขึ้นได้ในระดับหนึ่งแล้ว กลยุทธ์ขั้นสูงสุดต่อไป ก็จะเป็นการชักชวนกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือกลุ่มผู้เกี่ยวข้องในการธุรกิจ ให้เข้ามาร่วมกิจกรรมเพื่อสร้างความคิดริเริ่มใหม่ๆ เพื่อสร้างและขยายผลของความมุ่งมั่นสีเขียวในกลุ่มธุรกิจหรือกลุ่มอุตสาหกรรม
และรวมไปถึง การเป็นแกนนำเพื่อให้ความตระหนักรู้ต่อไปในระดับชุมชน และสังคมภายนอกโดยทั่วไป
จะเห็นได้ว่า การกำหนดกลยุทธ์เพื่อปรับทิศทางธุรกิจสู่การเป็นธุรกิจกรีนได้อย่างสมบูรณ์แบบ นอกจากจะต้องเริ่มจากกลยุทธ์ตามลำดับขั้นตอนที่เหมาะสมแล้ว ยังจะต้องขึ้นอยู่กับการดำเนินการที่มั่นคง มีประสิทธิภาพ ไม่รีบร้อนจนเกินไป ในระหว่างช่วงการปรับเปลี่ยนทิศทางของธุรกิจ
ก็จะทำให้วิสัยทัศน์การนำธุรกิจเอสเอ็มอีของท่านเข้าสู่การเป็นเอสเอ็มอีกรีน เป็นไปได้อย่างราบรื่น โดยไม่สะดุด!!??!!