“ของขวัญวันวาเลนไทน์” ยอดนิยมคงจะหนีไม่พ้น “ดอกกุหลาบ” สัญลักษณ์แทนความรัก ที่ผู้คนมักจะซื้อให้กันในวันวาเลนไทน์ แต่ในอนาคตอาจไม่มีดอกกุหลาบให้ซื้ออีกต่อไป เพราะ “วิกฤติสภาพภูมิอากาศ” กำลังสร้างคุกคามกุหลาบทั่วโลก
ตามรายงานจากองค์กรการกุศล Christian Aid ระบุว่า กลุ่มประเทศที่ปลูกดอกกุหลาบ ได้แก่ เคนยา ยูกันดา เอธิโอเปีย เนเธอร์แลนด์ เอกวาดอร์ และโคลอมเบีย กำลังเผชิญกับปัญหาสภาพอากาศสุดขั้ว ทั้งจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น ภัยแล้งและธารน้ำแข็งที่ละลาย รวมถึงมีแนวโน้มที่ดอกกุหลาบบานเร็วขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็พบโรคเชื้อรา เช่น จุดดำบนดอกอีกด้วย
ดอกกุหลาบชอบอุณหภูมิประมาณ 15-24 องศาเซลเซียส ปลูกในดินที่ระบายน้ำได้ดีและไม่แห้ง และต้องได้รับแสงแดดอย่างน้อย 6 ชั่วโมงต่อวัน โดย 59% ของดอกกุหลาบที่ส่งออกทั้งหมดมาจาก 5 ประเทศในแอฟริกาตะวันออก และอเมริกาใต้ ซึ่งเผชิญกับภัยคุกคามจากสภาพอากาศที่รุนแรง
ประเทศในแอฟริกาตะวันออก ได้แก่ เคนยา เอธิโอเปียและยูกันดา มีแนวโน้มว่าจะเจออากาศร้อนขึ้นและเกิดถี่ขึ้น นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในช่วงปี 2020-2022 ยังทำให้เกิดภัยแล้งในภูมิภาคนี้มากกว่าปกติถึง 100 ครั้ง ซึ่งเป็นข่าวร้ายของเกษตรกรผู้ปลูกดอกกุหลาบ เนื่องจากกุหลาบเป็นพืชที่ใช้น้ำเยอะ
เช่นเดียวกับ เอกวาดอร์และโคลอมเบียที่มักปลูกดอกกุหลาบในพื้นที่สูงและอากาศเย็น ก็มีอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน ซ้ำร้ายการละลายของธารน้ำแข็งในเทือกเขาแอนดีสในเขตร้อน ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้ทั้งสองประเทศเจอวิกฤติขาดแคลนน้ำ โดยพื้นที่อย่างน้อย 30% สูญหายไประหว่างปี 1990-2020
ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของโลกก็ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ทั้งการเกิดภัยแล้งในฤดูร้อนและน้ำท่วมในฤดูหนาว ซึ่งไม่เอื้อให้กุหลาบเจริญเติบโต ส่วนบัลแกเรียกำลังเจอกับปัญหาดอกกุหลาบเริ่มบานเร็วขึ้น ทำให้ฤดูเก็บเกี่ยวเริ่มต้นเร็วกว่าปกติประมาณสามสัปดาห์ เป็นผลมาจากฤดูหนาวที่ร้อนขึ้นกว่าเดิม
“กุหลาบอังกฤษ” เองก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน โดยต้นกุหลาบในสหราชอาณาจักรเริ่มออกดอกเร็วขึ้นประมาณหนึ่งเดือนเมื่อเทียบกับช่วงกลางทศวรรษ 1980 เนื่องจากอุณหภูมิเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นในช่วงเดือนมกราคม–เมษายน
ปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นก็เป็นปัญหาเช่นกัน เนื่องจากโรครา เช่น โรคจุดดำของกุหลาบและโรคราแป้ง ซึ่งเจริญเติบโตได้ดีในฤดูใบไม้ผลิที่อบอุ่นและชื้นกว่า กุหลาบยอดนิยมหลายพันธุ์มีผลผลิตลดน้อยลง เช่น โรซาอะชรอปเชอร์แลด (Rosa ‘A Shropshire Lad’) กุหลาบสายพันธุ์รางวัลไม่มีวางจำหน่ายแล้ว เนื่องจากถูกแมลงศัตรูพืช เช่น เพลี้ยอ่อน และโรคคุกคาม ซึ่งระบาดบ่อยขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ
แพทริค เอ็มบูกัว ผู้จัดการทั่วไปของ Wildfire Flowers ประเทศเคนยา กล่าวว่า “เราพบว่ามีโรคต่างๆ เพิ่มมากขึ้นเนื่องจากรูปแบบสภาพอากาศที่ผิดปกติ บางครั้งมีอากาศร้อนจัดซึ่งทำให้มีแมลงศัตรูพืชเพิ่มขึ้น และบางครั้งก็มีอุณหภูมิต่ำผิดปกติซึ่งทำให้เกิดเชื้อรา และผลผลิตลดลง”

ปกติแล้วในเนเธอร์แลนด์จะปลูกดอกกุหลาบในเรือนกระจกและให้ความร้อนด้วยก๊าซ ทั้งนี้ รายงานระบุว่ารอยเท้าคาร์บอนของดอกกุหลาบของโลกนั้นลดลงอย่างมาก แต่ยังคงส่งผลให้เกิดการปล่อยมลพิษจากการขนส่งทางอากาศและโรงงานแช่เย็น
รายงานยังเรียกร้องให้หยุดการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซแห่งใหม่ และเร่งลงทุนด้านพลังงานสะอาด เพื่อลดการปล่อยมลพิษที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ พร้อมเพิ่มเงินทุนเพื่อสภาพอากาศเพื่อช่วยให้ประเทศยากจนปรับตัว ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ปลูกกุหลาบได้รับการสนับสนุน ทั้งจากการกระจายรายได้และพัฒนาสายพันธุ์กุหลาบที่ทนทานมากขึ้น
โมฮัมเหม็ด อาโดว์ ผู้อำนวยการของ Power Shift Africa สถาบันวิจัยด้านสภาพอากาศและพลังงานกล่าวว่า สภาพอากาศที่ไม่แน่นอน อุณหภูมิที่รุนแรงและภัยแล้งที่ส่งผลกระทบต่อการปลูกกุหลาบ เป็นเรื่องที่นักวิทยาศาสตร์เตือนมาหลายปีแล้ว แต่ภาครัฐกลับไม่สนใจในการลดการปล่อยคาร์บอนเลย
พร้อมกล่าวว่า รัฐบาลควรมีนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับการลดการปล่อยมลพิษและพัฒนามาตรการอื่นๆ ที่จะช่วยลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้และต้องปกป้องเศรษฐกิจในท้องถิ่นและความเป็นอยู่ที่ดีของสังคมจากผลกระทบของการปล่อยมลพิษโดยเฉพาะ
ส่วนผู้ก่อมลพิษหลัก เช่น อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ ควรจะต้องเสียภาษีสำหรับความเสียหายที่พวกเขาได้ก่อไว้และเงินที่นำไปบริจาคให้กับกองทุนเพื่อผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติสภาพภูมิอากาศมากที่สุด