“งาขี้ม้อน” หรือ “งาขี้ม่อน” เป็นพืชสมุนไพรท้องถิ่นที่ปลูกกันมากในพื้นที่ภาคเหนือของไทย เป็นพืชตระกูลเดียวกับกะเพรา โหระพา แมงลัก ปัจจุบันจะเห็น “งาขี้ม้อน” หรือ “งาขี้ม่อน” ในรูปแบบขนมและเป็นส่วนประกอบของเครื่องสำอางกันเยอะ เนื่องจากประโยชน์ของเขาไม่ธรรมดา วันนี้จะพาไปทำความรู้จักให้มากขึ้นว่าจิ๋วแต่แจ๋วไปด้วยคุณประโยชน์

เหตุที่เรียกว่า “งาขี้ม้อน” นั้น มาจากรูปร่างหน้าตาของผลงาขี้ม้อนที่มีความคล้ายคลึงกับมูลหรือขี้ของตัวหม่อนหรือม้อนที่ให้เส้นใยของไหม ขี้ของมันมีลักษณะเป็นเม็ดกลมๆ เล็กๆ สีน้ำตาล ขนาดเท่าๆ กันทุกเม็ด
ลักษณะนิสัยเป็นพืชล้มลุก อายุปีเดียว สูง 0.3-1 เมตร มีกลิ่นหอมเฉพาะ ใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม รูปไข่ ขอบหยักฟันเลื่อย ดอกออกเป็นช่อที่ปลายยอด มีขนปกคลุม ดอกสีขาว ผลรูปทรงกลม ขนาดประมาณ 2 มิลลิเมตร สีน้ำตาลเข้ม ผิวมีลายร่างแห
พันธุ์งาขี้ม้อน มีพันธุ์ใบสีเขียวและพันธุ์ใบสีม่วง ใบสีเขียวเป็นพันธุ์ที่พบมากในประเทศไทย จากการสำรวจการปลูกงาขี้ม้อนในภาคเหนือตอนบนพบว่า มีการปลูกกระจายทั่วไปบนพื้นที่ดอนตามไหล่เขาเชิงเขา จากแหล่งปลูกใน 10 พื้นที่ มีงาขี้ม้อนทั้งหมด 130 สายพันธุ์ และมีอยู่ 10 สายพันธุ์ ที่ทางศูนย์วิจัยพืชสวนสุโขทัยคัดเลือกไว้ โดยแบ่งออกเป็น 3 พันธุ์ ได้แก่
– งาดอ เป็นงาขี้ม้อนอายุสั้น
– งากลาง อายุอยู่ระหว่างงาดอกับงาปี
– งาปี มีอายุมากกว่า
ต้นงาขี้ม้อน ลำต้นตั้งตรง ความสูงของต้นประมาณ 1-2 เมตร แตกกิ่งก้านสาขา ลำต้นสี่เหลี่ยมมน ต้นมีกลิ่นน้ำมัน มีขนยาวละเอียดสีขาว ระหว่างเหลี่ยมที่ต้นมีร่องตามยาว เมื่อโตเต็มที่ลำต้นเคยเป็นเหลี่ยมที่โคนต้นจะหาย แต่ละข้อตามลำต้นที่จะแตกเป็นใบห่างกัน 4-11 เซนติเมตร ส่วนโคนต้นและโคนกิ่งจะแข็ง รากแข็งเหนียว

“ผลงาขี้ม้อน” ผลมีลักษณะเป็นรูปไข่กลมขนาดเล็ก ผลอ่อนสีขาวหรือเขียวอ่อน ผลแก่เป็นสีน้ำตาลหรือสีเทา เมล็ดงาขี้ม้อนในดอกย่อยแต่ละดอกมีเมล็ดอยู่ 1-4 เมล็ด เมล็ดมีขนาดเล็กลักษณะกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.5 มิลลิเมตร มีสีที่ต่างกัน เป็นลายตั้งแต่สีดำหรือสีน้ำตาลเข้ม สีน้ำตาลอ่อน สีน้ำตาลไหม้ สีเทาเข้ม สีเทาอ่อนไปจนถึงสีขาวและมีลายเป็นรูปตาข่าย น้ำหนักเมล็ดประมาณ 4 กรัมต่อ 1,000 เมล็ด
การเก็บเกี่ยว
เมื่องาขี้ม้อนมีอายุได้ 4-5 เดือน งาจะเริ่มแก่ สังเกตช่อดอกส่วนล่างเริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลบ้างจึงเก็บเกี่ยวได้ เกี่ยวด้วยเคียวขณะที่ต้นยังเขียว ลำต้นที่ยังอ่อนซึ่งทำให้ง่ายต่อการเกี่ยว วางต้นงาที่เกี่ยวแล้วเพื่อตากแดดทิ้งไว้บนตอซังที่เกี่ยวหรือวางบนร้านไม้ไผ่ ตากแดด 3-4 วัน ต้นงาที่แห้งแล้วนำมาตีด้วยไม้ให้เมล็ดหลุดออกลงในภาชนะรองรับ ฝัดทำความสะอาดตากแดดอีกครั้งแล้วเก็บใส่กระสอบ เพื่อรอการจำหน่ายหรือเก็บไว้บริโภคเอง
ในเมล็ดงาขี้ม้อน 100 กรัม จะให้คุณค่าทางโภชนาการดังนี้
– โปรตีน 15.7 กรัม
– ไขมัน 26.3 กรัม
– คาร์โบไฮเดรต 37 กรัม
– แคลเซียม 350 มิลลิกรัม
– ฟอสฟอรัส 33 มิลลิกรัม
– วิตามินอี 6.7-7.6 มิลลิกรัม
– กรดไขมันโอเมก้า 3 ประมาณ 50.9-53.4%
– กรดไขมันโอเมก้า 6 ประมาณ 21.2-24.1%
คุณค่าทางโภชนาการที่ไม่ธรรมดา
งาขี้ม้อนมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูงมาก ได้แก่ โอเมก้า 3 มี 21.13-34.12% ซึ่งมีปริมาณสูงมากเมื่อเทียบกับโอเมก้า 3 จากปลาทะเล ที่มีอยู่ประมาณ 2.35% และมีโอเมก้า 6 ปริมาณ 21.2-24.1% มีวิตามินบี สารกลุ่มโพลีฟีนอล เช่น กรดโรสมารินิกและสารลูทีโอลิน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็ง
โอเมก้า 3 เป็นกรดไขมันจำเป็น ทำหน้าที่เป็นโครงสร้างไขมันที่สำคัญในสมองและจอประสาทตา มีประโยชน์ต่อระบบประสาท ช่วยเรื่องความจำและป้องกันความจำเสื่อมในวัยชรา ช่วยลดคอเลสเตอรอลหรือลดไขมันชนิดเลว LDL ที่สะสมในหลอดเลือด ที่เป็นสาเหตุของหัวใจและหลอดเลือด จึงช่วยป้องกันโรคหัวใจและสมองขาดเลือดได้
ส่วนโอเมก้า 6 ช่วยป้องกันการอุดตันของหลอดเลือด ช่วยลดอาการปวดข้อและอาการอักเสบต่างๆ ช่วยความชุ่มชื้นให้เซลล์ผิวแห้ง ลดอาการแห้งกร้าน ริ้วรอยต่างๆ บนผิวหนัง นอกจากนี้ ยังมีฟอสฟอรัสและแคลเซียมสูงกว่าพืชผักทั่วไปประมาณ 40 และ 20 เท่า ตามลำดับ ช่วยบำรุงกระดูกและฟัน มีวิตามินอี 6.7-7.6 mg ต่องาขี้ม้อน 100 กรัม
งาขี้ม้อน ถือเป็นธัญพืชที่มีอุดมไปด้วยสารอาหารที่หลากหลาย ในปัจจุบันงาขี้ม้อนเริ่มได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในกลุ่มคนรักสุขภาพ โดยนำมาแปรรูปออกมาหลายอย่าง แม้จะมีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายด้าน แต่การรับประทานงาขี้ม้อนก็ควรบริโภคให้เหมาะสม