เนื่องจากทุกฝ่ายต่างเผชิญปัญหาสภาพคล่องที่หายไปจากระบบเศรษฐกิจกันถ้วนหน้า จากการที่สถาบันการเงินมีความเข้มงวดระมัดระวังการปล่อยกู้ โดยล่าสุดวานนี้ (19 ก.พ.) นายกรัฐมนตรี “แพทองธาร ชินวัตร” ได้ไปพูดในงาน Matichon Leadership Forum 2025 Trust Thailand : เชื่อมั่นประเทศไทย ว่าต้องขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลดดอกเบี้ยให้กับประชาชน เพื่อให้มีสภาพคล่องทางการเงิน ซึ่งตอนนี้ยังสามารถดำเนินการได้อยู่ เนื่องจากเงินเฟ้อยังเพิ่มขึ้นน้อย รวมทั้งขอความร่วมมือธนาคารพาณิชย์ที่มีกำไรสูงปล่อยกู้ให้กับคนไทยได้มีแคชโฟร์ เพื่ออัปเกรดธุรกิจของตัวเอง อัปเกรดอุตสาหกรรมของตัวเองที่ทำมาอย่างยาวนาน
การออกมาพูดของผู้นำประเทศเพื่อส่งสารไปถึงแบงก์ชาติได้รับการขานรับจากภาคเอกชนในแนวทางที่เห็นด้วยกับมาตรการลดดอกเบี้ยนโยบายในช่วงเวลานี้เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากจะช่วยลดต้นทุนทางการเงินให้กับผู้ประกอบการและประชาชน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ เพราะปัจจุบันเศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับภาวะกำลังซื้อที่อ่อนแรง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ จำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมและการลดดอกเบี้ยนโยบายก็ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สามารถช่วยให้เกิดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ รวมทั้งควรจะมีมาตรการเสริมที่ช่วยให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น เพราะปัจจุบันมีข้อจำกัดในการเข้าถึงสินเชื่อทำให้ธุรกิจขนาดเล็กจำนวนมากไม่สามารถใช้ประโยชน์จากต้นทุนดอกเบี้ยที่ต่ำได้อย่างเต็มที่
ตัวเลข 3.2 % คือเศรษฐกิจไทยไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศออกมาเมื่อวันที่ (17 ก.พ.2567) ทั้งปีขยายตัวได้ราว 2.5% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าประเทศอื่นๆในอาเซียน ขณะที่กระทรวงการคลังยังคงยืนยันว่าปีนี้รัฐบาลจะพยายามส่งเสริมให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวให้ได้ 3 % โดยจะผลักดันการใช้งบลงทุนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะการสร้างโครงการสาธารณูปโภค การลงทุนก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ เพื่อทำให้เกิดการจ้างงาน ประชาชนมีรายได้ เงินในระบบก็จะเกิดการหมุนเวียนมากขึ้น
คำถามคือว่า รัฐบาลจะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างไร ขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายยังคงสูง สถาบันการเงินยังเข้มงวดกับการปล่อยกู้ ผู้ประกอบการรายย่อยยังเสี่ยงปิดตัวลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ยอดการโอนบ้านลดลง รัฐบาลจะอ้างเพียงตัวเลขคำขอส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ว่าเพิ่มขึ้นถึง 35% หรือประมาณ 1.14 ล้านล้านบาทว่าเป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เป็นรากฐานของเศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคต ในขณะที่ยังมีคำถามว่าโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเราเอื้ออำนวยจริงหรือไม่ แล้วจะมีความเชื่อมั่นได้อย่างไรว่าเม็ดเงินเหล่านั้นจะเกิดขึ้นจริงเข้าไปสู่ระบบเศรษฐกิจ และสร้างโอกาสให้คนไทยในการต่อยอดธุรกิจ และเกิดการจ้างงานอย่างแท้จริงได้อย่างไร โอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นนั้นอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงหรือว่าคำพูดที่สวยหรูเท่านั้น หลักฐานเชิงประจักษ์ต่างหากคือความจริงที่ทุกคนมีคำตอบ