รัฐบาลกำลังเผชิญแรงกดดันจากราคาข้าวตกต่ำ โดยเริ่มมีการชุมนุมเรียกร้องในหลายจังหวัด เพื่อให้นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ออกมาหาแนวทางหลังจากเริ่มเก็บเกี่ยวข้าวนาปีมาตั้งแต่ปลายเดือน พ.ย. 2567 และทำให้มีปริมาณข้าวเข้าสู่ตลาดเพิ่มมากขึ้น
การชุมนุมเรียกร้องให้กระทรวงพาณิชย์แก้ปัญหาราคาข้าวในหลายจังหวัดกำลังสร้างแรงกระเพื่อมให้กับรัฐบาล รวมถึงมีการออกมาเคลื่อนไหวของ ส.ส. ในพื้นที่ที่ต้องการให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับราคาข้าวเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ สมาคมโรงสีข้าวไทย รายงานราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ตลาดกรุงเทพฯ ในช่วงต้นรัฐบาลเมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2567 อยู่ที่ 11,000-14,400 บาทต่อตัน ส่วนราคาวันที่ 17 ก.พ. 2568 ลดลงมาอยู่ที่ 8,200-8,600 บาทต่อตัน
สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ นายกรัฐมนตรี เรียกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรสหกรณ์ เข้าหารือสถานการณ์ราคาข้าวตกต่ำที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2568
นายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความผ่านบัญชีทวิตเตอร์ (X) ส่วนตัวหลังการประชุมว่า “รัฐบาลอยู่ข้างชาวนาและพี่น้องเกษตรกรมาโดยตลอดพร้อมรับฟังขอให้พี่น้องชาวนาและเกษตรกรมั่นใจค่ะว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหานี้ และจะมีมาตรการออกไปเร็วที่สุด”
โดยส่วนหนึ่ง คือ การแก้ปัญหาการปลูกข้าวพันธุ์ที่ไม่ได้รับการรับรอง ทำให้ข้าวไม่ได้คุณภาพและราคาต่ำกว่าปกติ ส่งผลต่อราคาข้าวในภาพรวม จึงได้ให้กระทรวงเกษตรฯ เร่งพัฒนาพันธุ์ข้าวและแจกจ่ายแก่พี่น้องเกษตรกรให้เพียงพอ ส่วนมาตรการระยะสั้นพยุงราคาข้าว ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) จะออกมาตรการเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)

นางนฤมล กล่าวว่า นายกฯ รัฐบาล เป็นห่วงชาวนามากและขอให้กระทรวงเกษตรฯ ประสานกระทรวงพาณิชย์ โดยก่อนหน้านี้ คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวแห่งชาติ (นบข.) ออกมาตรการช่วยเหลือข้าวนาปีและจะออกมาตรการข้าวนาปรังเพิ่มเติม เพื่อดูดซับข้าวออกจากตลาด โดยมีเป้าหมายที่จะเอาข้าวออกจากตลาดเพื่อทำให้ราคาข้าวไม่ปรับตัวลงมากกว่าที่เป็นอยู่
โดยมาตรการนี้ จะนำเสนอที่ประชุม นบข. สัปดาห์หน้า เพื่อให้มาตรการออกมาทันช่วงมีปริมาณข้าวพันธุ์ดีอีกจำนวนหนึ่งจะออกมาสู่ตลาดเพิ่มเติม
นายพิชัย เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการตลาดว่า ที่ประชุมเห็นชอบมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2568 ซึ่งเป็นมาตรการพิเศษ ที่ปกติจะใช้เฉพาะการดูแลข้าวเปลือกนาปี 3 มาตรการ คือ
1. สินเชื่อชะลอนาปรัง ช่วยค่าฝากเก็บ 1,500 บาทต่อตัน หากเกษตรกรเก็บไว้ในยุ้งฉางของตัวเอง และได้ 1,000 บาทต่อตัน หากเก็บที่สหกรณ์ โดยสหกรณ์ได้ 500 บาทต่อตัน ต้องเก็บข้าวไว้ 1-5 เดือน เป้าหมาย 1.5 ล้านตัน
2. ชดเชยดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการโรงสี 6% ต้องเก็บสต๊อกไว้ 2-6 เดือน และต้องซื้อข้าวสูงกว่าราคาตลาด 200 บาทต่อตันขึ้นไป เป้าหมาย 2 ล้านตัน
3. เปิดจุดรับซื้อข้าวเปลือก โดยรัฐสนับสนุนค่าบริหารจัดการ 500 บาทต่อตัน และผู้ประกอบการต้องรับซื้อข้าวสูงกว่าตลาด 300 บาทต่อตัน เป้าหมาย 3 แสนตัน รวมปริมาณข้าว 3.8 ล้านตัน ใช้งบประมาณรวม 1,893 ล้านบาท
“ทั้ง 3 มาตรการนี้ วงเงิน 1,893 ล้านบาท โดยจะเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (นบข.) เพื่อขออนุมัติในสัปดาห์หน้า” นายพิชัย กล่าว
นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า สมาคมชาวนาฯ ได้ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์แล้ว ให้แก้ปัญหาราคาข้าว 3 ข้อ คือ
1. ราคาข้าวที่ตกต่ำขณะนี้ รัฐบาลจะมีมาตรการอะไรช่วยเหลือ
2.การชดเชยห้ามเผาฟางข้าวไร่ละ 500 บาท แบบไม่จำกัดพื้นที่ มีความคืบหน้าอย่างไร
3.การช่วยเหลือเมล็ดพันธุ์ข้าวและต้นทุนการผลิตสูงขึ้น เช่น ปุ๋ย น้ำมัน
ขณะที่ราคาข้าวเปลือกปัจจุบัน โดยเฉพาะข้าวขาว กข79 ความชื้น 25% ราคาค่อนข้างดีไม่หลุดกรอบ 8,000 บาทต่อตัน แต่การรับซื้อแต่ละพื้นที่อาจแตกต่างกันและยอมรับว่าบางพื้นที่มีราคาข้าว 6,000 บาทต่อตัน
ทั้งนี้ เตรียมข้อเสนอราคาข้าวให้รัฐบาลกำหนดอัตรา อาทิ ข้าวขาวความชื้น 15% ราคา 10,000 บาทต่อตัน แทนการให้ความช่วยเหลือไร่ละ 500 บาท
ส่วนข้อเสนอประกันราคาข้าวที่ 11,000 บาทต่อตัน จะต้องพิจารณาชนิดข้าว โดยก่อนหน้านี้เรียกร้องให้ราคาข้าวหอมมะลิอยู่ที่ 13,000 บาทต่อตัน , ข้าวหอมปทุมธานี 12,000 บาทต่อตัน , ข้าวเหนียวและข้าวพื้นนุ่ม 11,000 บาทต่อตัน , ข้าวขาวหรือข้าวแข็งทั่วไป 10,000 บาทต่อตัน หากรัฐบาลดำเนินการตามข้อเรียกร้องนี้ทุกอย่างจะจบ
“มั่นใจว่ารัฐบาลจะรับการตอบรับที่สมาคมชาวนาฯ เสนอ แต่ถ้าไม่รับข้อเสนอดังกล่าวรัฐบาลลำบากแน่ เพราะต้นทุนการผลิตพุ่งขึ้น 5,500-6,000 บาทต่อไร่ หากรัฐบาลไม่ตอบรับข้อเสนอ จะทำให้ชาวนาทำนาไม่คุ้มทุนและสร้างความเดือดร้อนให้ชาวนา”
นอกจากนี้ ชาวนาที่ออกมาเรียกร้องไม่อยากปิดถนน ซึ่งเคยบอกรัฐบาลว่าถ้าชาวนาอยู่ได้รัฐบาลก็อยู่ได้ โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีที่ไม่สนใจชาวนาเลยว่าเป็นอยู่อย่างไร และไม่มีหน่วยงานใดสนใจชาวนา โดยที่ผ่านมาชาวนาไม่เคยออกมาเรียกร้องนับ 10 ปี แต่ปีนี้เจอวิกฤติราคาข้าวเหลือเพียง 6,000 บาทต่อตัน จึงออกมาเรียกร้อง
ทั้งนี้ หากไม่ได้ข้อสรุปจะเสนอที่ประชุม นปข.เพื่อดำเนินเร่งด่วน เพราะหากรัฐบาลล่าช้าจะทำให้ปริมาณข้าวออกสู่ตลาดไปอยู่ที่โรงสีทั้งหมด ส่วนการที่รัฐบาลช่วยเหลือด้วยการเปิดจุดรับซื้อตลาดนัดข้าวเปลือก 20 แห่ง เห็นด้วยแต่ไม่เพียงพอเพราะเพิ่มราคาข้าวขึ้นเพียง 300 บาทต่อตัน ซึ่งใกล้เคียงราคาตลาดแต่ไม่ตอบโจทย์เกษตรกร
นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า เนื่องจากฤดูที่ผ่านมาเป็นฤดูที่ยาวนานและมีอากาศหนาวเย็น ได้ส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกข้าว ทำให้ข้าวออกไม่สุดรวง จึงเกิดปัญหาข้าวลีบในทุกชนิดข้าว บวกกับสถานการณ์ราคาข้าวที่ปรับตัวลดลง ส่งผลให้ชาวนาบางส่วนขายข้าวได้เพียง 6,000-8,000 บาทต่อไร่
โดยสมาคมชาวนา หวังว่าจะมีข้าวชุดใหญ่ในพื้นที่นาปรังภาคเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จะออกสู่ตลาดในเดือนเมษายน ซึ่งมีพื้นที่กว่า 10 ล้านไร่ คิดเป็นปริมาณข้าวเปลือกปริมาณ 6.5 ล้านตัน